แผนกลยุทธ์ด้านการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมของ กนอ. ปีงบประมาณ

 

แผนกลยุทธ์ด้านการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมของ กนอ. ปีงบประมาณ 2563 - 2565 จัดทำขึ้นจากข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมของ กนอ. ทั้งด้านหลักการ มาตรฐานและแนวปฏิบัติสากล ทิศทางการดำเนินงานเชิงกลยุทธ์ รวมถึงผลการดำเนินงานตามภารกิจของ กนอ. ที่ส่งผลต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

 

บทคัดย่อ 

แผนกลยุทธ์ด้านการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมของ กนอ.        

ปีงบประมาณ 2563 – 2565

ปัจจุบันประเทศต่างๆ ทั่วโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จากการก้าวสู่ยุคโลกาภิวัตน์หรือยุคสังคม 4.0 ที่เทคโนโลยีดิจิทัลได้เข้ามามีบทบาทสำคัญและเป็นพื้นฐานการจัดการในทุกภาคส่วน อย่างไรก็ตามจากการพัฒนาที่ขาดความสมดุลและสร้างผลกระทบเชิงลบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม กรณีดังกล่าวจึงผลักดันให้ประชาคมโลกได้ทำการปรับเปลี่ยนหลักการ/แนวคิด แนวปฏิบัติ และมาตรฐานในการประกอบธุรกิจที่มุ่งเน้นให้คำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการปฏิบัติงานประจำวัน (CSR in Process) ซึ่งจากการที่ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสหประชาชาติ และต้องการบรรลุการพัฒนาความยั่งยืนได้ตามเป้าหมายที่สากลกำหนด (Sustainable Development Goals : SDGs) ในปัจจุบันจึงได้จัดทำกรอบกลยุทธ์และแผนกลยุทธ์การดำเนินงานทั้งระดับชาติและระดับกระทรวง เพื่อถ่ายทอดให้องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนนำไปปฏิบัติให้เกิดผลสำเร็จ

ดังนั้นเพื่อให้ กนอ. มีการกำหนดทิศทางการดำเนินงานด้าน CSR in Process และการพัฒนาความยั่งยืน ที่สอดคล้องกับหลักการ/แนวคิด แนวปฏิบัติ และมาตรฐานสากล รวมถึงนโยบาย กรอบกลยุทธ์ และแผนกลยุทธ์สำคัญระดับชาติที่เกี่ยวข้อง กนอ.ได้นำปัจจัยจากหลักการ/แนวคิด มาตรฐานสากล, มาตรฐานภายในประเทศ, นโยบายภาครัฐ, แผนยุทธศาสตร์ กนอ. ปีงบประมาณ 2561 – 2565 (ทบทวนปีงบประมาณ 2563), ปัจจัยความยั่งยืนในภาคอุตสาหกรรม, ตลอดจนการวิเคราะห์และเปรียบเทียบหลักการ มาตรฐาน ISO 26000 ซึงเป็นมาตรฐานด้าน CSR ที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากลมาจัดทำแผนกลยุทธ์ด้านการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้

 

 

กลยุทธ์ที่ 1 : ISO 26000 Implementation การเสริมสร้างองค์ประกอบและแนวปฏิบัติด้านการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ในกระบวนการ (CSR in Process) และการสร้างการมีส่วนร่วมและพัฒนาชุมชน (CSR after Process) ตามมาตรฐานสากล ISO 26000

เป็นกลยุทธ์เพื่อสนับสนุนให้ กนอ. ดำเนินการตามมาตรฐาน ISO 26000 ได้อย่างครบถ้วน ผ่านการกำหนดโครงสร้างผู้รับผิดชอบงานด้าน CSR in Process ตามมาตรฐาน ISO 26000 ตั้งแต่ระดับคณะกรรมการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมพัฒนานโยบายและคู่มือปฏิบัติงาน รวมถึงเสริมสร้างระบบบริหารจัดการ ระบบติดตาม ประเมิน รายงานผลการดำเนินงาน และระบบส่งเสริมการดำเนินงานด้าน CSR in Process ที่ได้มาตรฐานและเพียงพอต่อการนำ กนอ. สู่องค์กรต้นแบบด้าน CSR in Process จนเป็นที่ไว้วางใจ เชื่อมั่น และยอมรับจากชุมชนและสังคมโดยรวม

วัตถุประสงค์

1) กนอ. มีโครงสร้าง องค์ประกอบและแนวปฏิบัติที่ดีด้าน CSR in Process ที่ครบถ้วนสมบูรณ์ตามมาตรฐานสากล ISO 26000

2) กนอ. เป็นรัฐวิสาหกิจที่ได้รับการยอมรับจากหน่วยงานภายนอกในการเป็นต้นแบบด้าน CSR in Process

3) ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มของ กนอ. เกิดความพึงพอใจและมีทัศนคติที่ดีต่อการจัดการนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศของ กนอ. จากการใช้ CSR in Process เป็นกลไกพื้นฐาน

 

 

กลยุทธ์ที่ 2 : CSR in Process for Smart Eco การเสริมสร้างนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอัจฉริยะ (Smart Eco Industrial Town) ที่มีพื้นฐานจากการดำเนินงานด้าน CSR in Process เพื่อต่อยอดสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ของ กนอ. ในอนาคต

เป็นกลยุทธ์เพื่อสนับสนุนให้ กนอ. จัดตั้ง พัฒนา และบริหารจัดการนิคมและท่าเรืออุตสาหกรรมของ กนอ. ให้อยู่ในรูปแบบอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ที่เพิ่มความครบถ้วนในการปฏิบัติงานตามกรอบหลักการพัฒนาที่ยั่งยืนและการจัดการที่ทันสมัยภายใต้สภาพแวดล้อม Thailand 4.0 ด้วยการประยุกต์ใช้หลักการ CSR in Process เทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมเป็นพื้นฐานในการบริหารจัดการ โดยกลยุทธ์นี้กำหนดให้ กนอ. คัดเลือกและพัฒนาคุณลักษณะของการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องและอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กนอ. โดยตรงให้เกิดผลสำเร็จ รวมถึงมุ่งเน้นให้ กนอ. พัฒนาระบบประเมินผลสำเร็จเชิงสังคมหรือ Social Return on Investment (SROI) สำหรับวัดผลสำเร็จเชิงสังคมทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม นำมาจัดทำเป็นบัญชีเชิงสังคมของ กนอ.  เพื่อสะท้อนผลสำเร็จของการพัฒนานิคมและท่าเรืออุตสาหกรรมที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมได้ตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย เผยแพร่ให้ชุมชนและสังคมโดยรวมได้รับรู้อย่างชัดเจน ก่อนขยายผลการดำเนินงานไปสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอย่างเต็มรูปธรรมต่อไปในอนาคต

วัตถุประสงค์
1) กนอ. เป็นนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่มีพื้นฐานจากการประยุกต์ใช้ CSR in Process เทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม
2) กนอ. เกิดระบบประเมินผลตอบแทนทางสังคม (Social Return on Investment : SROI)เพื่อประเมินผลสำเร็จของการพัฒนาเมืองนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศของ กนอ. และมีระบบบัญชีเชิงสังคม ตามมาตรฐานการบัญชีที่เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป
3) กนอ. ไม่เกิดอุบัติภัยร้ายแรงด้านสิ่งแวดล้อมต่อสังคม ชุมชน และระบบนิเวศ

 

 

กลยุทธ์ที่ 3 : ECO Efficiency การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมและลดสภาพการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ

เป็นกลยุทธ์หลัก ที่สนับสนุนให้ กนอ. มีความตระหนักและรู้รับผิดชอบต่อ สิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศ โดยผลักดันให้ กนอ. เกิดการพัฒนาตั้งแต่ระดับกระบวนการผลิต การให้บริการ และการปฏิบัติตลอดห่วงโซ่อุปทาน ที่ครอบคลุมทั้งการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างประหยัด มีประสิทธิภาพเชิงเศรษฐนิเวศ (Eco-efficiency) และคุ้มค่า ผ่านการแลกเปลี่ยนวัสดุและทรัพยากรเหลือใช้อย่างเกื้อกูลกันในภาคอุตสาหกรรม (Eco-Symbiosis) การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติพลังงานและน้ำในเชิงบูรณาการ รวมถึงหลีกเลี่ยงการก่อน้ำเสีย กากของเสีย มลพิษและการใช้สารพิษ/สารเคมีมีพิษที่เป็นสาเหตุของการเกิดภาวะโลกร้อนอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนี้ กำหนดให้เกิดขึ้นจากการใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) มาวางแผนทางการจัดการเชิงกลยุทธ์เพื่อป้องกันหลีกเลี่ยงและลดกิจกรรมการดำเนินงานที่จะก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศรอบพื้นที่ปฏิบัติงานของ กนอ.

วัตถุประสงค์
1) กนอ. เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรเชิงนิเวศ (Eco-efficiency)
2) กนอ. เกิดเครือข่ายการแลกเปลี่ยนวัสดุและทรัพยากรเหลือใช้ อย่างเกื้อกูลกันในภาคอุตสาหกรรม (Eco-Symbiosis) ภายในนิคมและท่าเรืออุตสาหกรรมที่กำกับดูแล
3) กนอ. มีฐานข้อมูลกลางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในเชิงบูรณาการ

 

 

กลยุทธ์ที่ 4 : Human Capital Management การบริหารและพัฒนาบุคลากรเพื่อการปฏิบัติงานที่เป็นเลิศและวัฒนธรรมองค์กรที่มุ่งเน้นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในกระบวนการ (CSR in Process)

เป็นกลยุทธ์สนับสนุน ที่เน้นการพัฒนาความรู้และความเข้าใจของบุคลากรทุกระดับของ กนอ. ตั้งแต่คณะกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานให้มีทักษะในงานด้าน CSR in Process อย่างแท้จริง เพื่อใช้ในการกำหนดนโยบาย ค่านิยมจริยธรรม แนวปฏิบัติที่ดี จนถึงการกำกับและวางแผนกลยุทธ์ที่เกี่ยวข้องกับการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการพัฒนาความยั่งยืนได้อย่างมีประสิทธิผล จนนำไปสู่วัฒนธรรมองค์กรที่สามารถผนวกรวมหลักการ CSR in Process เข้าเป็นส่วนหนึ่งของพฤติกรรม และกระบวนการปฏิบัติงานประจำวันขององค์กรได้อย่างแท้จริง

วัตถุประสงค์

1) บุคลากรของ กนอ. เกิดความรู้ ทักษะ ความเชี่ยวชาญงานด้าน CSR in Process ตามมาตรฐานสากล
2) กนอ. มีวัฒนธรรมองค์กรที่มุ่งเน้น CSR in Process ที่เกิดจากความตระหนักและการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของบุคลากรของ กนอ.

 

กลยุทธ์ที่ 5 : Stakeholder and Customer Relationship การพัฒนาเครือข่ายนิคมอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพเพื่อขับเคลื่อนความสำเร็จด้านการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในกระบวนการ (CSR in Process) และการพัฒนาความยั่งยืนของ กนอ.

เป็นกลยุทธ์สนับสนุนที่มุ่งให้ กนอ. เป็นกลไกหลักในการกำกับดูแลและส่งเสริมให้ผู้เกี่ยวข้องกับกิจการนิคมอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการ รวมถึงผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม มีความรู้ความเข้าใจ และทักษะที่เกี่ยวข้องกับงานด้าน CSR in Process จนสามารถนำไปใช้พัฒนากระบวนการปฏิบัติงานทุกด้านของตนเองได้อย่างมีประสิทธิผล และเป็นมาตรฐานเพียงพอที่จะสนับสนุนให้ห่วงโซ่อุปทานของ กนอ. เกิดมูลค่าเพิ่มอย่างต่อเนื่องในระยะยาว รวมถึงมุ่งเน้นให้ กนอ. เร่งเสริมสร้างเครือข่ายที่มีศักยภาพ เพื่อร่วมเป็นกำลังสำคัญแก่ กนอ. ในการพัฒนานวัตกรรมทั้งด้านนิคมอุตสาหกรรม การให้บริการ และรูปแบบการจัดการนิคมอุตสาหกรรมในอนาคต ที่พร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงและสนองความต้องการของภาครัฐ ระบบเศรษฐกิจ ชุมชน/สังคม และสิ่งแวดล้อมได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ได้จริงในอีกทางหนึ่ง

วัตถุประสงค์

1) ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอกที่สำคัญของ กนอ. เกิดความรู้ ทักษะ ความเชี่ยวชาญด้าน CSR in Process ตามมาตรฐานสากล
2) ผู้ประกอบการและผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมเกิดการพัฒนากระบวนการผลิตและการให้บริการที่สนับสนุนให้ กนอ. สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจ ชุมชน/สังคม และสิ่งแวดล้อม
3) กนอ. เกิดเครือข่ายความร่วมมือที่มีศักยภาพเพื่อพัฒนา/นวัตกรรมงานด้าน CSR in Process และการพัฒนาความยั่งยืนของ กนอ.

 

 

กลยุทธ์ที่ 6 : Green Innovation การพัฒนานวัตกรรมสีเขียว (Green Innovation) จากเทคโนโลยีดิจิทัล

เป็นกลยุทธ์ที่สอดคล้องกับแนวโน้มการจัดการธุรกิจในปัจจุบัน ที่เน้นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data)เป็นกลไกให้เกิดนวัตกรรมที่สามารถเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของ กนอ. ในระยะยาว โดยนวัตกรรมที่พัฒนาควรอยู่ภายใต้ขอบเขตนวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์บริการและการปฏิบัติงานที่เป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้เพื่อต่อยอดให้การจัดการนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรืออุตสาหกรรมสามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม และเป็นประโยชน์สูงสุดแก่ระบบเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมโดยรวมของประเทศต่อไป

วัตถุประสงค์

กนอ. มีนวัตกรรมสีเขียว (Green Innovation) จากเทคโนโลยีดิจิทัล

 

Banner Border